ฟิล์มยืดถนอมอาหาร ผลิตจากอะไร? ปลอดภัยกับอาหารจริงหรือไม่? ในปัจจุบันเวลาไปซื้ออาหารตามห้างสรรสินค้า ตลาดสด หรือแม้แต่ร้านค้าย่อย ๆ ใกล้บ้านเรามักจะพบว่ามีการใช้ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร หรือที่เรียกว่า คลิงฟิล์ม (cling film) หรือที่เราเรียกติดปากกันว่าฟิล์มยืดถนอมอาหาร หรือแรปถนอมอาหารนั่นเอง
โดยพบได้อย่างแพร่หลายทั้งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นของสด อย่างพวกผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่าง ๆ อาหารแช่แข็ง อาหารที่ปรุงแล้ว เช่น เบเกอรี่ ปลาทอด ทอดมัน เป็นต้น ทั้งนี้การใช้ฟิล์มยืดถนอมอาหารก็เพื่อหุ้มห่ออาหารหรือใช้ในการปิดปากภาชนะเพื่อป้องกันอาหารจากการสัมผัสหรือปนเปื้อนสิ่งสกปรกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเชื้อจุลินทรีย์หรือฝุ่นละอองที่มีในสภาพแวดล้อม ช่วยป้องกันอาหารสัมผัสกับอากาศ และช่วยในการเก็บรักษากลิ่นของอาหาร ความสดใหม่ ป้องกันการระเหยหรือสูญเสียน้ำในพวกผักหรือผลไม้ จึงช่วยป้องกันการสูญหายของน้ำหนักสินค้าได้อีกด้วย แต่นอกจากข้อดีต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา ทราบกันหรือไม่ว่าการใช้ฟิล์มยืดยืดถนอมอาหารหากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกวิธีหรือเลือกใช้ไม่ถูกต้องแล้ว อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้เช่นกัน
ฟิล์มยืดถนอมอาหารผลิตมาจากอะไร?
cling film หรือ ฟิล์มถนอมอาหารนั้นจะมีเนื้อฟิล์มที่ใสและเหนียวจึงสามารถยึดเกาะติดกับภาชนะบรรจุอาหารต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นจานชามเซรามิค พลาสติก ไม้ แก้ว หรือโฟม ซึ่งฟิล์มยืดถนอมอาหารโดยทั่วไปแล้วมักนิยมทำมาจากพลาสติค 3 ประเภท ดังนี้
- PE หรือ โพลีเอทิลีน (Polyethylene) ฟิล์มยืดที่ผลิตจากพลาสติก PE นั้นจะมีคุณสมบัติที่ให้ไอ น้ำซึมผ่านได้น้อย แต่ก๊าซจะสามารถซึมผ่านได้ดี เหมาะกับการนำมาใช้ห่อผัก ผลไม้สด
- PVC หรือ โพลีไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride) ฟิล์มยืดที่ผลิตจากพลาสติก PVC จะมีสมบัติ ยอมให้ไอน้ำและออกซิเจนไหลผ่านได้ จึงเหมาะสำหรับใช้บรรจุอาหารสดเพื่อช่วยรักษาความสดของอาหาร เอาไว้เช่น เนื้อสัตว์และปลา
- PVDC หรือ โพลีไวนิลิดีนคลอไรด์ (Polyvinylidenechloride) ฟิล์มยืดที่ผลิตจากพลาสติก PVDC จะมีคุณสมบัติที่เหมือนกับฟิล์มยืดที่ผลิตจาก PVC คือมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งก๊าซและไอน้ำซึมผ่านได้ แต่ฟิล์มยืด ชนิดนี้จะสามารถทนความร้อนได้มากกว่า
ฟิล์มยืดถนอมอาหารปลอดภัยหรือไม่?
ในประเทศไทย ฟิล์มยืดที่ใช้ถนอมอาหารจะต้องมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงาน
มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 1136-2536 เรื่องฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร โดยจะต้องผลิตจากพลาสติกชนิดใดชนิดหนึ่งจากสองชนิด ได้แก่ โพลิไวนิลคลอไรด์และ โพลิเอทิลีน เนื่องจากในกระบวนการผลิตฟิล์มยืดหุ้มห่อหรือถนอมอาหารจะต้องมีการเติมสารเติมแต่งชนิดต่าง ๆ ลงไปเพื่อช่วยให้ฟิล์มยืดมีสมบัติตามต้องการ เช่น สารพลาสติไซเซอร์ที่ช่วยให้ฟิล์มมีความยืดหยุ่น แต่สารชนิดนี้สามารถละลายได้ดีในไขมันและที่อุณหภูมิสูง ซึ่งถ้าหากเรานำฟิล์มยืดที่มีการเติมสารพลาสติไซเซอร์มาใช้ห่อหุ้มอาหารจำพวกไขมัน ห่อหุ้มอาหารในขณะที่ยังร้อน หรือนำเข้าเตาไมโครเวฟก็อาจทำให้สารพลาสติไซเซอร์นั้นละลายลงสู่อาหารได้ เพราะสารชนิดหากนี้จัดได้ว่าเป็นอันตรายกับร่างกายก็คือเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งการที่ร่างกายของเราสะสมสารเหล่านี้เอาไว้เป็นระยะเวลานานอาจเกิดการเจ็บป่วยจนไม่สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงพิษภัยของสารปนเปื้อนในฟิล์มยืดถนอมอาหารโดยการเลือกซื้อฟิล์มยืดถนอมอาหารที่ได้มาตรฐาน และที่สำคัญคือนำมาใช้งานอย่างถูกวิธีก็จะช่วยป้องกันอันตรายจากสารปนเปื้อนได้
การใช้ฟิล์มยืดให้ปลอดภัย
อย่างที่ทราบกันแล้วว่าในฟิล์มยืดถนอมอาหารนั้นมีการเติมสารที่เป็นอันตรายและอาจเกิดการปนเปื้อนลงมาในอาหารที่เราบริโภคได้หากทีการใช้อย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจและใช้งานฟิล์มยืดอย่างปลอดภัย ดังนี้
– ห้ามฟิล์มยืดห่ออาหารเพื่อนำไปเข้าเตาอบ เพราะความร้อนจากเตาอบจะเข้าไปละลายสารเคมีจากพลาสติกที่ใช้ทำฟิล์มยืดให้ออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้
– หากต้องการใช้ฟิล์มยืดถนอมอาหารเพื่อห่ออาหารสำหรับนำไปอุ่น ละลายน้ำแข็ง หรือทำให้สุกโดยใช้เตาไมโครเวฟ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเลือกใช้ฟิล์มยืดชนิดที่สามารถใช้กับเตาไมโครเวฟเท่านั้น
– ถ้าต้องการใช้ฟิล์มยืดถนอมอาหารเพื่อห่ออาหารประเภทไขมัน เช่น เนย เนื้อสัตว์ติดมัน ให้เลือกใช้ฟิล์มยืดชนิดที่สามารถใช้กับไขมันได้เท่านั้น
– ไม่ควรนำฟิล์มยืดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำอีก เพราะพลาสติกจะมีการเสื่อมสภาพไปจนอาจทำให้สารเคมีหลุดออกมาปนเปื้อนในอาหารได้ เ
– เวลาเลือกซื้ออาหาร ไม่ควรซื้ออาหารจำพวกเนยหรืออาหารที่มีไขมันที่มีการห่อด้วยฟิล์มยืดถนอมอาหาร เนื่องจากเราไม่อาจทราบได้ว่าสินค้าชนิดนั้น ๆ ได้ใช้ฟิล์มยืดสำหรับห่อหุ้มอาหารประเภทไขมันหรือเปล่า เพราะถ้าหากไม่ได้ใช้ฟิล์มยืดสำหรับไขมันโดยเฉพาะก็อาจเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีมาโดยที่เราไม่รู้ตัวก็เป็นได้
สำหรับฟิล์มยืดถนอมอาหารนอกจากจะมีข้อดีในเรื่องของการช่วยห่อหุ้มอาหาร รักษาความสดใหม่ ป้องกันสิ่งสกปรก ฝุ่นละออง เชื้อโรคต่าง ๆ รวมไปถึงการถนอมอาหารแล้ว ข้อเสียก็คืออาจเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีที่ใช้ผลิตฟิล์มยืดได้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรตระหนักถึงการใช้ฟิล์มยืดถนอมอาหารอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
Leave a reply