ฟิล์มยืดจากไคโตซาน และเจลาติน เหมาะสมกับสินค้าประเภทไหน ปกติแล้วเรามักจะได้เห็นฟิล์มยืดที่ใช้ทั้งในครัวเรือนและในภาคอุตสาหกรรมผลิตมาจากพลาสติก PP, PE หรือ PVC เป็นส่วนใหญ่ แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินที่นำมาใช้ใกล้ชิดกับอาหารได้อย่างปลอดภัย ฟังดูแล้วหลายๆ คนอาจจมีความสงสัยและเกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่า “จริงหรือ?” ก็ต้องตอบว่าเป็นเรื่องจริง ด้วยการวิจัยและพัฒนาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ จึงเกิดเป็นความคิดในเรื่องการนำเอาสารสกัดที่มีในอาหารอยู่แล้ว มาผลิตเป็นฟิล์มยืดเพื่อถนอมและปกป้องอาหารจากสิ่งสกปรก ทำให้เกิดความปอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้งาน เพราะผลิตภัณฑ์ฟิล์มยืดและบรรจุภัณฑ์อาหารในปัจจุบันมักจะผลิตมาจากเม็ดพลาสติกที่อยู่ในกลุ่มปิโตรเคมีเสียส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ใช้งานบางคนรู้สึกกังวลใจเรื่องสารเคมีเจือปนไม่น้อยเลยทีเดียว
การวิจัยฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินเน้นไปที่เรื่องของความปลอดภัยเป็นหลัก ไม่ใช่แค่เพียงความปลอดภัยด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความปลอดภัยแก่สภาพแวดล้อม เพราะทั้งไคโตซานและเจลาตินสามารถที่จะย่อยสลายได้ตามเวลา ไม่ทำลายธรรมชาติเพราะมาจากธรรมชาติเช่นกัน เป็นโพลิเมอร์แบบชีวภาพที่สามารถผลิตได้เลยภายในประเทศ มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิต ไม่จำเป็นที่จะต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีอัตราส่วนในการใช้ไคโตซาน 1.5% และเจลาติน 2% เข้าไปเคลือบเนื้อฟิล์มแล้วให้คุณสมบัติที่ยืดหยุ่น มีค่าการทนต่อแรงดึงที่ถือว่าดี สามารถลดการผ่านของไอน้ำได้ดี โดยมีการทดสอบกับส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้งที่มีการห่อหุ้มด้วยฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินนานกว่า 21 วัน ผลสรุปออกมาว่าเนื้อส้มโอมีคุณภาพมากกว่าวิธีการถนอมอาหารแบบอื่นๆ ลดการสูญเสียน้ำได้ 8.24% เมื่อนำเอาฟิล์มยืดออกมา เนื้อส้มโอยังคงสวยงาม ไม่มีชื้น และมีรสชาติที่อร่อยเหมือนแกะออกมาจากเปลือกใหม่ๆ ทำให้เป็นที่พึงพอใจของผู้วิจัยเป็นอย่างมาก
คุณสมบัติที่น่าสนใจของฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาติน คือ
1.ลดปัญหาการใช้งานพลาสติกจากกลุ่มปิโตรเคมี เช่น กลุ่มพลาสติกโพลิเมอร์ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าผ่านขั้นตอนการผลิตที่ดี ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตัวผู้ใช้งานก็ต่ำ แต่ถ้าผลิตมาไม่ดี ไม่ได้คุณภาพ ก็จะสร้างมลภาวะที่ร้ายแรงให้กับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้งานอย่างมาก แต่ฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินไม่มีผลต่อสภาพแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้คนอย่างมาก
2.เก็บรักษาความสดใหม่ได้ดีเยี่ยม มีผลการวิจัยที่ชัดเจนว่าฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินสามารถรักษาอุณหภูมิของสดได้ใกล้เคียงกับพลาสติกโพลิเมอร์ ทำให้ของสดที่ถูกแพ็คไม่สูญเสียความชุ่มชื้นเร็วเกินไป จึงเก็บได้นานขึ้นและไม่เสี่ยงต่อการเน่าเสียได้ง่าย
3.ใช้กับอาหารได้อย่างปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง เพราะเป็นสารสกัดจากธรรมชาติ ใช้เป็นการเคลือบไว้บนพื้นผิว ซึ่งในงานวิจัยยังระบุด้วยว่าฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินเป็นฟิล์มกินได้ เพราะผลิตมาจากวัสดุที่มีอยู่ในอาหาร เช่น เซลลูโลส, แป้ง, โปรตีน, ไคโตซาน, เจลาติน และคาราจีแนน เป็นต้น
4.ผลิตมาจากของเสียที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้งานให้มีประโยชน์มากยิ่งขึ้น นั่นคือไคโตซานที่ได้จากเปลือกกุ้ง ซึ่งในปัจจุบันเปลือกกุ้งถือว่าเป็นขยะที่มีมากหลายล้านตันต่อปี ทำให้เกิดเป็นขยะที่มีมากเกินความจำเป็น จึงสามารถนำเปลือกกุ้งมาสกัดเอาสารไคโตซานเพื่อมาผสมเป็นส่วนหนึ่งของฟิล์มยืด ถือว่าเป็นการสร้างประโยชน์จากของที่ไม่ใช้แล้วได้เป็นอย่างดี
5.ไคโตซานไม่ได้หาได้แค่ในเปลือกกุ้งเท่านั้น แต่ยังสามารถที่จะพบในกระดองปู, เปลือกหอย หรือแม้แต่ในเชื้อราบางชนิด จึงมีให้นำไปผลิตเป็นฟิล์มยืดได้อย่างไม่จำกัด ถือว่าช่วยลดปริมาณของเสียที่มาจากอุตสาหกรรมทางทะเลได้เลยทีเดียว
6.เป็นวัสดุชีวภาพที่เสื่อมสลายได้เองตามธรรมชาติ ไม่เหมือนกับพลาสติกแบบโพลิเมอร์ที่เมื่อผลิตออกมาแล้วก็ยากที่จะเสื่อมสลาย จนอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการกับสภาพแวดล้อมได้ ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้คนในนาคตรวมไปถึงปัญหาขยะล้นโลก เพราะพลาสติกย่อยสลายได้ยาก
7.อัตราค่าการแพร่ผ่านของไอน้ำ, การละลาย, การดูดซับความชื้น, ความทนทานของฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี จึงทำให้สามารถนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของอาหารได้เช่นกัน ช่วยในเรื่องการห่อหุ้มอาหารให้ปลอดภัยจากสารเคมีและไม่ทำให้อาหารเสียเร็วจนเกินไป
8.มีประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่น้อยไปกว่าพลาสติกแบบต่างๆ เพราะด้วยคุณสมบัติที่มีความใกล้เคียงกับพลาสติกอย่างมาก จึงคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตการนำฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมแบบจริงจังน่าจะมีให้เราได้เห็นกันมากขึ้น ซึ่งถ้าหลายๆ อุตสาหกรรมนำมาใช้ก็จะช่วยลดปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการผลิตได้เป็นอย่างดี
การใช้งานฟิล์มยืดจากไคโตซานและเจลาตินถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะช่วยเรื่องความปลอดภัยของทั้งสุขภาพและสภาพแวดล้อม เป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่หวังว่าจะได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานทั่วไปและภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าผลิตภัณฑ์แบบชีวภาพเหล่านี้มีราคาที่ค่อนข้างสูง จึงไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร
Leave a reply