เม็ดพลาสติก มีกี่ประเภท แต่ละชนิดใช้งานต่างกันอย่างไร ปัจจุบันพลาสติกเข้ามามีบทบาทกับมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเรามักจะพบอยู่ในรูปของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ถุง กล่อง แผ่นฟิล์ม ภาชนะต่าง ๆ เป็นต้น พลาสติกส่วนมากมีแหล่งกำเนิดจากปิโตรเลียม โดยในขั้นตอนการกลั่นลำดับส่วนน้ำมันดิบนั้นพบว่ามีปริมาณสารประกอบไฮโดรคาร์บอนสายยาวเกินกว่าความต้องการใช้งานอยู่ในปริมาณมาก จึงมีการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้มาผ่านกระบวนการแยกสลายเพื่อตัดความยาวให้สั้นลงให้เป็นสารประกอบขนาดเล็ก เช่น ก๊าซเอทธิลีนและโพรพิลีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกนั่นเอง โดยก๊าซเหล่านี้จะถูกส่งไปยังโรงงานเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกต่อไป
กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกนั้นก็จะเริ่มต้นจากการนำสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีขนาดเล็กซึ่งได้มาจากขั้นตอนกลั่นลำดับส่วนของน้ำมันดิบ มาทำปฏิกิริยากันจนได้เป็นสายโซ่ยาวที่เรียกว่าโพลิเมอร์ โดยที่โพลิเมอร์แต่ละชนิดก็จะสังเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบเริ่มต้นที่แตกต่างออกกันไป จึงทำให้โพลิเมอร์ที่ได้มีสมบัติที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน โดยโพลิเมอร์ที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้นี้ ก็จะถูกนำไปขึ้นรูปให้เป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต่อไปนั่นเอง ซึ่งเม็ดพลาสติกนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าและพัฒนาต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพลาสติก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น โดยในปัจจุบัน ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทยนั้นได้ใช้เม็ดพลาสติกในประเทศประมาณร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 นั้นนำเข้าจากต่างประเทศ
เม็ดพลาสติก สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 ประเภท ดังนี้
- โพลีเอทิลีน (PE) เป็นเม็ดพลาสติกที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุด เม็ดพลาสติก PE ที่ผลิตได้จะแบ่งเป็น LDPE, LLDPE, HDPE และ MDPE เป็นพลาสติกที่ไอน้ำซึมผ่านได้เล็กน้อย แต่อากาศสามารถผ่านเข้าออกได้ มีลักษณะขุ่นและทนความร้อนได้ดีพอควร จึงเป็นพลาสติกที่นำมาใช้กันมากที่สุดในอุตสาหกรรม เช่น ท่อน้ำ ถัง ถุง ขวด แท่นรองรับสินค้า เป็นต้น
- โพลีโพรพิลีน (PP) เป็นเม็ดพลาสติกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ไฟฟ้า มีคุณสมบัติเป็นพลาสติกที่ไอน้ำซึมผ่านได้เล็กน้อย แข็งกว่า PE ทนต่อสารจำพวกไขมันและทนความร้อนได้สูง จึงนิยมนำมาใช้ทำแผ่นพลาสติกหรือถุงพลาสติกบรรจุอาหารที่ทนร้อน หลอดดูด เป็นต้น
- โพลีสไตรีน (PS) เป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นพลาสติกแล้วจะมีลักษณะโปร่งใส เปราะ แต่ทนต่อกรดและด่าง ไอน้ำและอากาศสามารถซึมผ่านได้พอควร นิยมนำมาใช้ทำชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น
- โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติให้ไอน้ำและอากาศซึมผ่านได้พอควร ป้องกันไขมันได้ดี มีลักษณะใส นำมาใช้ในงานก่อสร้าง หรือใช้ทำขวดบรรจุน้ำมันและไขมันปรุงอาหาร ขวดบรรจุเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ต่าง ๆ เป็นต้น
- ABS / SAN, AS เป็นเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตพลาสติกที่ทนต่อแรงกระแทกได้ดี ใช้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ สามารถทนต่อสารเคมีได้ดี
- เม็ดพลาสติกสำหรับใช้งานเฉพาะด้าน คือเม็ดพลาสติกเกรดวิศวกรรม เป็นเม็ดพลาสติกที่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศบางส่วน
- เม็ดพลาสติกชนิดอื่นๆ เช่น พอลีคาร์บอนเนต (polycarbonate) นำมาใช้ผลิตทำเป็นขวดน้ำ เหยือกน้ำ ขวดนม ใช้บุกระป๋องโลหะสำหรับใส่อาหาร เป็นถ้วยใส ช้อนส้อม มีดชนิดใส เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วนั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกที่ผลิตออกมาให้เราใช้กันในทุกวันนี้จะมีสัญลักษณ์ระบุเอาไว้ที่ตัวของผลิตภัณฑ์เป็นหมายเลข 1-7 อยู่ในลูกศรสามเหลี่ยม ทำให้เราสามารถทราบได้ว่าเป็นพลาสติกประเภทไหน ดังนี้
หมายเลข 1 จะเป็นพลาสติกประเภท PETE มักใช้ทำขวดใสบรรจุน้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มต่าง ๆ
หมายเลข 2 เป็น HDPE ใช้ทำขวดทึบบรรจุนมสด น้ำยาซักผ้า แชมพู เป็นต้น
หมายเลข 3 เป็น PVC มักจะใช้ทำขวดบรรจุน้ำมันพืช ที่ใช้กันมากก็คือ ถุงหูหิ้วที่ใช้ใส่ของกันนั่นเอง
หมายเลข 4 เป็น LDPE ใช้ทำถุงเย็นใส่อาหาร ขนม กาแฟเย็น ชาเย็นเป็นต้น
หมายเลข 5 เป็น PP ใช้ทำยางลบ หลอดดูด ขวดนมเด็ก ถุงร้อนสำหรับบรรจุอาหาร เป็นต้น
หมายเลข 6 เป็น PS เรียกกันทั่วไปว่าโฟม ใช้ทำกล่องสำหรับบรรจุอาหารต่าง ๆ ถ้วยที่ใช้แล้วทิ้ง ช้อน ส้อม มีด พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้งเป็นต้น
หมายเลข7 เป็นชนิดอื่น ๆ เช่น PC ใช้ทำเป็นขวดน้ำ เหยือกน้ำ ใช้บุกระป๋องโลหะสำหรับใส่อาหาร เป็นถ้วยใส ช้อนส้อม มีดชนิดใส เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเม็ดพลาสติกนั้นสามารถนำมาใช้ทำพลาสติกประเภทต่าง ๆ ได้มากมายตามการใช้งานด้านต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรเลือกประเภทของเม็ดพลาสติกเพื่อนำมาใช้งานให้ถูกต้องเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการด้วยนั่นเอง
Leave a reply