ฟิล์มยืดพันพาเลท ผลิตมาจากวัสดุประเภทใด ใช้ในอุตสาหกรรมใดบ้าง ปัจจุบันฟิล์มที่ใช้ในการพันพาเลทนั้นได้เข้ามามีบทบาทในขั้นตอนขนส่งและโลจิสติกส์กันมากขึ้น โดยเป็นการนำฟิล์มยืดมาใช้กับสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อรวมสินค้าให้เป็นหน่วยเดียวกัน รวมไปถึงการห่อรัดสินค้าบนพาเลทเพื่อการลำเลียงขนส่ง ซึ่งการใช้ฟิล์มพันพาเลทนั้นมีประโยชน์ในการป้องกันสิ่งปนเปื้อนเช่น ฝุ่นละออง สิ่งสกปรก หรือไอน้ำ ช่วยรวมสินค้าเล็ก ๆ หลาย ๆ หน่วยเป็นหน่วยใหญ่เพื่อความสะดวกในการขนส่ง นอกจากนี้ยังป้องกันการตกหล่นของสินค้าที่อยู่บนพาเลทขณะที่ขนส่งได้อีกด้วย แล้วฟิล์มยืดที่ใช้พันพาเลทคืออะไร ผลิตมาจากวัสดุใดบ้าง
ฟิล์มยืดเป็นพลาสติกประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวก็คือมีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง โดยฟิล์มยืดนี้จะสามารถเกาะติดกันเองได้เมื่อทำการดึงฟิล์มให้ยืดออกมา จึงทำให้สะดวกในการใช้ห่อรัดสินค้าโดยที่ไม่ต้องใช้วัสดุอื่น ๆ มาเพื่อติดยึดฟิล์มยืดอีก ซึ่งเม็ดพลาสติกที่นิยมนำมาผลิตเป็นฟิล์มยืดก็คือ LDPE, LLDPE, EVA และ PVC โดยในขั้นตอนการผลิตนั้นจะมีการใส่สารเติมแต่ง เช่น สารเกาะติด (cling agent) เพื่อช่วยให้ฟิล์มสามารถยึดเกาะติดกันได้ดีเมื่อนำมาใช้ห่อสินค้า มีการใส่สารป้องกันการเกิดออกซิเดชันเพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของพลาสติกในระหว่างการผลิต นอกจากนี้ยังมีการเติมสารอื่น ๆ เพื่อการใช้งานเฉพาะอย่าง เช่น สารป้องกันการเกาะติด (antiblock agent) เพื่อป้องกันม้วนฟิล์มเกาะติดกันแน่นจนเกินไป สารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV inhibitor) สำหรับยืดอายุของฟิล์มที่ใช้งานภายนอกอาคารที่ต้องเจอแสงแดดตลอดเวลา เป็นต้น
ในการใช้ฟิล์มยืดเพื่อห่อสินค้าหรือใช้ฟิล์มยืดเพื่อพันพาเลทนั้นสามารถทำได้โดยง่าย สามารถทำได้ทั้งการห่อด้วยมือหรือจะใช้เครื่องมือในการห่อก็ได้ โดยในการใช้ฟิล์มพันพาเลทนั้นส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยในการห่อสินค้าเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นมีปริมาณมากและต้องการความรวดเร็วในการห่อนั่นเอง ในการเลือกใช้ฟิล์มยืดนั้นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญของฟิล์มยืดนั้นจะต้องประกอบไปด้วย ความสามารถในการยืดตัว (stretchability) แรงยืด (stretchforce) ความยืดหยุ่น (elasticity) ความสามารถในการต้านแรงดึง (breaking strength) อัตราการซึมผ่านของไอน้ำ (water vapor transmission rate) และอัตราการซึมผ่านของก๊าซ (gas transmission rate) ซึ่งสมบัติต่าง ๆ เหล่านี้ก็จะนำมาใช้ในกรณีของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป เช่นในการห่อสินค้าเพื่อการขายปลีกอย่างพวกอาหารบรรจุในถาดพลาสติก ก็มักจะใช้ฟิล์มยืดชนิด PVC และ PP เนื่องจากมีความใสทำให้มองเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนและไม่จำเป็นต้องมีความเหนียวมากนัก สำหรับในกรณีของการห่อผลิตภัณฑ์เพื่อรวมหน่วย ที่เอาไว้เพื่อการขนส่งนั้นก็มักจะใช้ฟิล์มชนิดที่เป็น PE ทั้งแบบความหนาแน่นต่ำ (low density PE, LDPE) และแบบความหนาแน่นต่ำเชิงเส้นตรง (linear low density PE, LLDPE) โดยเฉพาะฟิล์มแบบ LLDPE ที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีความแข็งแรงและการยืดตัวที่สูงกว่าฟิล์มชนิดอื่น ๆ โดยในส่วนของการเลือกฟิล์มยืดนั้นต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ด้วย ดังนี้
อุณหภูมิ
โดยทั่วไปแล้วภายใต้สภาวะอากาศปกติ ฟิล์มยืดแบบ LDPE, EVA และ LLDPE นั้นจะสามารถรักษาแรงห่อรัดไว้ได้ 60-65% ของแรงที่ใช้ห่อรัดเริ่มแรก ส่วนฟิล์ม PVC นั้นสามารถรักษาไว้ได้เพียง 25% ถ้าหากอยู่ในอุณหภูมิที่สูง ฟิล์มยืดที่ห่อรัดผลิตภัณฑ์ก็จะเกิดการคลายตัว ส่วนที่อุณหภูมิต่ำก็จะทำให้ความเหนียวและการยืดตัวของฟิล์มนั้นลดลง ดังนั้นฟิล์มยืดส่วนใหญ่จึงไม่ควรนำมาใช้งานที่อุณหภูมิในช่วง 30 – 54 องศาเซลเซียส
ความชื้น
ความชื้นที่สูงนั้นจะทำให้การเกาะติดของฟิล์มยืดดีมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมากจากสารที่เติมลงไปเพื่อให้ฟิล์มเกาะติดกันทำงานได้ดีในที่มีความชื้นสูง เพราะจะดูดความชื้นจากบรรยากาศเข้าไปทำให้ฟิล์มเกาะตัวกันได้ดี ดังนั้นการใช้งานฟิล์มยืดในบริเวณที่มีความชื้นสูงจึงมักเกิดปัญหาในการแยกฟิล์มให้ออกจากกันได้ยากมากขึ้น
ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรก
ฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกที่เข้ามาเกาะติดที่ผิวฟิล์มนั้นจะทำให้คุณสมบัติการเกาะติดกันของฟิล์มลดลงไป ดังนั้นถ้าต้องมีการใช้งานฟิล์มยืดในที่มีฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกเยอะ ๆ จึงควรที่จะมีการใช้กาว ความร้อน หรือการผูกรัดเข้ามาเพื่อช่วยให้ฟิล์มสามารถยืดติดกันได้ดีมากยิ่งขึ้น
อุปกรณ์หรือเครื่องมือในการห่อรัด
อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการห่อรัดก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการเลือกคุณสมบัติของฟิล์มยืดที่จะนำมาใช้งาน เช่นถ้าหากใช้เครื่องพันฟิล์มแบบจานหมุน ก่อนจะทำการห่อรัดก็ต้องทราบขนาดและน้ำหนักของสินค้าตัวที่ใหญ่ที่สุดที่จะทำการพันเสียก่อน รวมไปถึงลักษณะของสินค้าที่จัดเรียงบนพาเลท เช่น รูปทรงและความมั่นคงในการเรียงซ้อนกันได้ ความแข็งแรงในการรับแรงกด ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ฟิล์มยืด โดยผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบาและมีรูปทรงสม่ำเสมอนั้นจะสามารถห่อรัดได้ง่ายกว่าและใช้ฟิล์มยืดในปริมาณที่น้อยกว่า ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมากและมีรูปทรงที่ไม่สม่ำเสมอ หรือมีส่วนที่แหลมคมยื่นออกมา หรือมีความเป็นเหลี่ยมมุม การเลือกใช้ฟิล์มยืดก็ต้องเลือกแบบที่มีความเหนียวสามารถป้องกันการทิ่มทะลุได้เป็นอย่างดี หรืออาจป้องกันโดยการใช้วัสดุอื่น ๆ เข้ามาช่วย เช่น การใช้โฟมขึ้นรูปหรือแผ่น กระดาษลูกฟูกนำมาห่อหุ้มตรงเหลี่ยมมุมก่อนการพันด้วยฟิล์มยืด
จะเห็นได้ว่าฟิล์มยืดที่ใช้พันพาเลทนั้นก็มีให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน ดังนั้นก่อนที่จะเลือกใช้ฟิล์มพันพาเลทก็ควรทราบถึงชนิดและลักษณะของสินค้า รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการเก็บรักษาและในระหว่างขนส่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและป้องกันรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดก่อนถึงมือผู้บริโภคนั่นเอง
Leave a reply